ข่าวสารประชาสัมพันธ์

ประวัติผ้ามัดหมี่

ประวัติผ้ามัดหมี่
ผ้ามัดหมี่ เป็นการทอผ้าอย่างหนึ่งที่มีการสร้างลวดลายก่อนที่จะทำการย้อมสี การทำลายผ้ามัดหมี่เป็นการเอาเชือกมามัดด้ายหรือมัดเส้นไหมตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ การมัดและย้อมลายจะมีการทำทั้งเส้นทางแนวยืน และแนวนอนหรือที่เรียกว่าแนวพุ่ง มีการสันนิษฐานว่าการมัดลายในแนวยืนน่าจะมีมาก่อนในแนวพุ่ง และจากการสืบค้นมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแบบอย่างมาจากประเทศอินเดีย โดยในสมัยโบราณที่มีการค้าขายกันและติดมากับสินค้าอื่น

การทอผ้ามัดหมี่โบราณนิยมการย้อมสีด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม เป็นต้น ส่วนผ้าไหมมัดหมี่จะนิยมทำในกลุ่มไท-ลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเส้นทางการรับแบบอย่างของผ้ามัดหมี่ คือจากอินเดีย ผ่านมาทางอินโดนีเซียและกัมพูชาหรือเขมร ดังที่เราจะเห็นได้ว่าผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ จะเป็นวัฒนธรรมที่เป็นแบบเขมรอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจุบันผ้ามัดหมี่มีการทำกันอย่างแพร่หลาย สามารถทำได้ดีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าไหมจะมีความสวยงามมาก นอกจากตัวผ้าไหมเองแล้ว ลวดลายและสีสันยังเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสวยงามให้มากยิ่งขึ้น การอนุรักษ์ลวดลายโบราณ และนำมาประยุกต์ใช้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การเก็บรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติเพื่อการถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ดีและควรให้การสนับสนุน

สำหรับลวดลายต่างๆที่มีการสร้างสรรค์มาแต่โบราณ จึงเป็นงานศิลป์ที่ควรแก่คุณค่าให้เป็นสินทรัพย์ของแผ่นดินไทยตลอดไป

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *