ไม่มีหมวดหมู่

ผ้ามัดหมี่

ผ้ามัดหมี่ คือ ผ้าที่ทอจากด้ายหรือไหมที่ผูกมัดแล้วย้อมโดยการคิดผูกให้เป็นลวดลาย แล้วนำไปย้อมสีก่อนทอ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่นิยมทำกันมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในภาคกลางบางจังหวัด อาทิ จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดลพบุรี ภาคเหนือมีการทอที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน เป็นต้น

กระบวนการทำผ้ามัดหมี่นั้น ในขั้นตอนการสร้างลวดลายจะต้องนำเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยไหมไปค้นลำหมี่ให้ได้ตามจำนวนที่เหมาะสมกับลวดลาย แล้วจึงนำไปขึงเข้ากับ “โฮงหมี่” โดยจะใช้เชือกมัดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี เรียกว่าการ “โอบ” ในอดีตใช้เชือกกล้วย ต่อมานิยมใช้เชือกฟางพลาสติก การมัด จะต้องมัดให้แน่นตามลวดลายที่กำหนดไว้แล้วนำไปย้อมสีจากนั้นตากแดดให้แห้ง เมื่อนำมาแก้เชือกออกจะเห็นส่วนที่มัดไว้ไม่ติดสีที่ย้อม หากต้องการให้ลวดลายมีหลายสี จะต้องมัดโอบอีกหลายครั้งตามความต้องการ ตำแหน่งที่มัดให้เกิดลวดลายนั้น จะต้องอาศัยทักษะเชิงช่างที่ชำนาญและแม่นยำ เพราะช่างมัดหมี่ของประเทศไทยไม่ได้มีการขีดตำแหน่งลวดลายไว้ก่อนแบบประเทศอื่นๆ ตำแหน่งการมัดลวดลาย จึงอาศัยการจดจำและสั่งสมจากประสบการณ์ ในกระบวนการทอ ช่างทอผ้ามัดหมี่จะต้องระมัดระวัง ทอผ้าตามลำดับของหลอดด้ายมัดหมี่ที่ร้อยเรียงลำดับไว้ให้ถูกต้อง และจะต้องใช้ความสามารถในการปรับจัดลวดลายที่เหลื่อมลํ้ากันที่เกิดจากกระบวนการย้อมสีให้ออกมาสวยงาม กลวิธีการทอผ้ามัดหมี่จึงเป็นภูมิปัญญาด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่ต้องอาศัยทักษะเชิงช่างชั้นสูง

ลวดลายมัดหมี่ที่มีการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณนั้นส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในวิถีชีวิตความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณี อาทิ ลายดอกแก้วลายต้นสน ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายบายศรี ลายกวาง ลายนกยูง ลายเต่า ลายพญานาค ฯลฯ

ผ้ามัดหมี่มีบทบาทในวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย หญิงสาวต้องทอผ้าเพื่อทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม วัสดุเส้นใยทั้งฝ้ายและไหมบ่งบอกถึงศักยภาพทางการค้า เพราะเป็นวัสดุที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายมาแต่โบราณ ส่วนวัสดุย้อมสีธรรมชาติสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืชในประเทศไทยที่มีความหลากหลาย ซึ่งช่วยให้ผ้ามัดหมี่ของไทยมีสีสันเฉพาะตัว และยังสะท้อนไปถึงความเชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มชนในการย้อมสีธรรมชาติ

ปัจจุบัน การถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตผ้ามัดหมี่ยังคงมีอยู่บ้างตามชนบท แต่เยาวชนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจสืบทอดการทอผ้ามีจำนวนลดลง และหลายชุมชนก็ไม่สามารถสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามัดหมี่ไว้ได้ จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแขนงนี้คงอยู่สืบไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *