บทความ

วิธีการทำผ้าไหมมัดหมี่

การเตรียมเส้นยืน

เส้นยืน

เส้นยืนหรือไหมยืน, ไหมเส้นยืน, ไหมเครือ เป็นเส้นด้ายชุดหนึ่งที่ขึงไว้กับกี่ตามแนวตั้ง โดยสอดผ่านช่องฟืม และตะกอที่โยงไว้กับกี่ และไม้เหยียบ 

วิธีการเตรียมเส้นยืน

1.              คัดเลือกเส้นไหมที่ค่อนข้างเรียบ เส้นแข็งแรง เหนียว ขนาดเหมาะสม

2.             นำมาฟอกทำความสะอาด 

3.             ย้อมสีเส้นไหม  

4.             นำไหมที่ย้อมเสร็จแล้วมากวัก 

5.             นำไหมที่กวักแล้วมาทำการค้นเครือในหลักเผือ

6.             นำไหมที่ค้นเครือแล้วมาทำการร้อยฟันหวี (ร้อยฟืม)

7.             นำไหมที่ร้อยฟันหวีเสร็จแล้วมาขึงบนกี่ 

8.             ทำการเก็บตะกอและผูกโยงตะกอ

การฟอกไหม

การฟอกไหมหรือการด่องไหม  เป็นการต้มฟอกไหมดิบสีเหลืองที่แข็งกระด้าง  เพื่อลอกกาวไหมหรือน้ำลายของตัวหนอนไหมทีพ่นออกมาขณะพ่นใยสร้างรังไหมออก  เพื่อให้เส้นไหมมีความสะอาดและสามารถดูดซับสีได้ดีในขั้นตอนของการย้อมสีเพื่อให้สีติดแน่น

การย้อมสีไหม ( เส้นยืน )

                การย้อมไหม เป็นการชุบสีหรืออาบสีลงบนเส้นไหม  หลังจากการฟอกทำความสะอาดไหมเรียบร้อยแล้ว

วิธีการย้อมสีไหม ( เส้นยืน)

           1.   นำเปลือก นำมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ

          2.      นำไปต้มในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน ในอัตรา  พืช 1 กิโลกรัม 3 ลิตร  กรองน้ำสีที่ได้เอาเฉพาะน้ำสีที่ได้จากเปลือกพืช  นำเส้นไหมที่ฟอกกาวไหมออกหมดแล้ว 1 กิโลกรัม  มาแช่น้ำเย็น 10-15 นาที 

          3.     นำมาต้มในสารละลายสารส้มในอัตราส่วนของสารละลายสารส้ม 1 ขีด น้ำ 4 ลิตร ต้มในอุณหภูมิ 60-70 องศา กลับเส้นไหมทุกๆ 3-5 นาที จนครบ 15 นาที แล้วยกไหมออกจากสารละลายสารส้มรอให้ไหมเย็น

         4.   นำไหมมาล้างให้สะอาด 2-3 ครั้ง บิดให้หมาดๆแล้วกระตุกเส้นไหมให้เรียงกัน  นำไหมที่ต้มในสารละลายสารส้มแล้วมาย้อมในน้ำสีที่เตรียมไว้ 3 ลิตร ที่อุณหภูมิห้อง กลับไหมทุก 3-5 นาที จนครบ 15 นาที แล้วจึงยกหม้อขึ้นตั้งไฟ กลับไหมทุกๆ 3-5 นาที ต้มจนครบ 1 ชั่วโมง ยกไหมขึ้นรอให้เย็น  นำไหมไปล้างน้ำให้สะอาด 5-6 ครั้งจนน้ำใส แล้วนำไหมมากระตุกและตากในที่ร่ม

วิธีการค้นเครือ

1.      ผูกปลายเส้นไหมที่โบกไหมกับหลักค้นลูกแรก  จากนั้นวนไปทางซ้ายผ่านหลักค้นทุกหลักถึงหลักค้นลูกสุดท้าย จึงนำเส้นไหมไปพันกับหลักค้นพิเศษ ซึ่งมีหลักเดียวในเฝือ นับจำนวนความและจำนวนหลบบริเวณขาใจ จนกระทั่งได้เส้นไหมตามจำนวนสัมพันธ์กับฟืมที่จะใช้ทอเมื่อได้จำนวนตามที่ต้องการ

2.      ถอดกลุ่มไหมออกจากเฝือ แล้วตัดเส้นไหมให้ปลายเปิดทุกเส้น ตรงที่คล้องกับหลักค้นลูกแรก กลุ่มเส้นไหมที่ได้ เรียกว่า ไส้หูก

วิธีการร้อยฟันหวี

1.     วัดความยาวจากจุดกึ่งกลางของฟันหวีไปหาริม 2 ข้างร้อยเส้นยืนเข้าช่องฟันหวีตามความกว้างที่ต้องกา 

           2.      เมื่อเสร็จแล้วก็นำไหมมาขึ้นกี่

           3.       จากนั้นทำการเก็บตะกอ

ารเตรียมเส้นพุ่ง

วิธีการเตรียมเส้นพุ่ง

1.             คัดเลือกเส้นไหมที่ค่อนข้างเรียบ เส้นแข็งแรง เหนียว ขนาดเหมาะสม

2.             นำมาฟอกทำความสะอาด 

3.             นำไหมที่ฟอกเสร็จแล้วมาทำการกวักไหมเพื่อทำให้เส้นไหมต่อกันเป็นเส้นเดียวตลอด

4.             นำไหมที่กวักเสร็จแล้วมาค้นหมี่

5.             มัดหมี่ 

6.             ย้อมหมี่ 

7.             แก้ปอมัดหมี่

8.             นำหมี่ที่ย้อมเสร็จแล้วมาทำการกรอใส่หลอด 

9.             นำเชือกมาร้อยหลอดได้เพื่อใส่กระสวยในขั้นตอนการทออีกต่อไป

วิธีการมัดหมี่

                  1. นำหมี่ที่ค้นหมี่แล้วมายายลำในโฮงมัดหมี่         

                  2 . มัดหมี่ตามลายที่ต้องการ

                  3. ถอดไหมที่มัดลายเสร็จแล้วออกจากโฮงหมี่

วิธีการทอผ้าไหมมัดหมี่

        คือ     การเอาเส้นไหมมากกว่า 2 เส้นขึ้นไปมาขัดสลับกัน ซึ่งมีวิธีการทอเป็นขั้น ๆ ดังนี้      

          1.เมื่อเตรียมไหมเส้นพุ่งและไส้หูกเรียบร้อยแล้ว นำเอาเส้นหูกอันใหม่สืบต่อกับไส้หูกที่ค้างอยู่ในเขาหูกและร่องฟันฟืมเดิม กางกี่หรือหูกให้เรียบร้อย       

          2.เอาหลอดไหมเข้าร่องกระสวย ร้อยไหมจากหลอดผ่านรูเล็ก ๆ ข้างกระสวย หากเส้นไหมหมดจากหลอดแรก ต้องเอาหลอดที่ 2,3… ตามลำดับหลอดที่ร้อยไว้ บรรจุเข้ากระสวยและทอตามลำดับ       

         3.คล้องเชือกจากเขาหูกอันหนึ่งเข้ากับไม้คันเหยียบข้างใดข้างหนึ่งและคล้องเชือกเขาหูกที่เหลืออีกอันเข้ากับไม้คันเหยียบอีกอัน เมื่อเหยียบไม้คันเหยียบข้างหนึ่ง ไส้หูกกางออกเป็นช่องเนื่องจากการดึงของเขาหูก พุ่งกระสวยผ่านช่องว่างนั้น แล้วดึงฟืมกระทบเส้นฝ้ายที่ออกมาจากกระสวยเข้าไปเก็บไว้ เหยียบไม้คันเหยียบอีกอัน พุ่งกระสวยผ่านช่องว่าง กลับมาทางเดิม ดึงฟืมกระทบเส้นฝ้ายเข้าเก็บ เหยียบไม้คันเหยียบอีกอัน พุ่งกระสวย ดึงฟืมกระทบ เหยียบไม้คันเหยียบ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนได้ผืนผ้าเกิดขึ้นยากมากแล้ว จึงพันผืนผ้าไว้ด้วยไม้กำพัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *